เลือดกำเดาไหล ในเด็กมีอาการแบบไหนและเกิดจากสาเหตุอะไร

เลือดกำเดาไหล เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กปกติ มักมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรง เลือดมักหยุดได้เองภายใน 5-10 นาที หลังจากมีการบีบจมูกเบาๆ ซึ่งอาจเกิดจากการแคะ แกะ เกาบริเวณจมูกอย่างแรง จนทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุจมูกแตกง่าย ซึ่งมักพบในช่วงฤดูหนาว หรืออากาศที่แห้ง หรือเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า หรือศีรษะ หรือมีโรคประจำตัว มักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กเล็ก อายุ 2-3 ขวบ ไปจนถึงวัยประถมต้น และมักหายได้เองเมื่ออายุโตขึ้น ส่วนน้อยพบได้ในเด็กบางรายที่มีรูปโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติ ทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้น

เลือดกำเดาไหล มีลักษณะการไหลแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อมีเลือดกำเดาไหลนาน ร่วมกับที่ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีพรายย้ำ จ้ำเขียว หรือ มีจุดแดงหรือจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย
  • เมื่อมีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้นร่วมด้วย
  • มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอยหรือปนเลือดร่วมด้วย
  • เมื่อเด็กมีไข้สูงร่วมด้วย
  • เมื่อเด็กมีอาการอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือซีดลง

โดยปกติร่างกายของเราจะมีเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการป้องกันเลือดออกและช่วยในการหยุดของเลือดหากเกิดบาดแผล อาการเลือดกำเดาไหลจึงอาจเป็นอาการแสดงของโรคเลือดที่ทำให้เกล็ดเลือดลดจำนวนลงหรือทำงานผิดปกติ จึงทำให้มีเลือดออกง่ายจากเยื่อบุต่างๆ ซึ่งมีทั้งโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อเลือดกำเดาไหลไม่หยุดนานเกิน 30 นาที ทั้งที่ใช้วิธีห้ามเลือดเบื้องต้นโดยการบีบจมูกแต่เลือดไม่หยุดไหล

  • โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease – VWD) ซึ่งอาจมีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยากในครอบครัวร่วมด้วย
  • โรคที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานตนเอง (immune thrombocytopenia – ITP) ซึ่งเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็กภายหลังโรคติดเชื่อประมาณ 1-3 สัปดาห์ หรือหลังได้รับการฉีดวัคซีน โรคไขกระดูกฝ่อทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้อย่างพอเพียง ทำให้มีโลหิตจาง ติดเชื้อง่ายเนื่องจากมีเม็ดเล็ดขาวต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแทรกซึมอยู่ในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดที่ปกติได้ลดลง

นอกจากนี้ในรายที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ และเป็นเวลานาน อาจทำให้เด็กเกิดภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรัง จนเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก สังเกตอาการง่ายๆ หากเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หรือ เหนื่อยง่าย ให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด และรับยาธาตุเหล็กไปรับประทาน

เลือดกำเดาไหล มีสาเหตุและข้อควรปฏิบัติ

อาการเลือดกำเดาไหลแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามตำแหน่งที่มีเลือดออก ได้แก่ ตำแหน่งโพรงจมูกส่วนหน้า ซึ่งเป็นชนิดที่พบการเกิดเลือดออกได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากหลอดเลือดฝอยบริเวณนี้มักแตกได้ง่าย ส่วนอีกชนิดพบได้น้อยกว่าจะเกิดในตำแหน่งโพรงจมูกส่วนหลัง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดที่ใหญ่กว่าบริเวณด้านหลังโพรงจมูก เลือดกำเดาไหลบ่อยในเด็กเป็นอาการที่พบได้บ่อย ส่วนมากมักไม่ได้เป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติรุนแรงใดๆ ทางร่างกาย โดยสาเหตุที่มักเกี่ยวข้องกับเลือดกำเดาไหล เช่น

  • อากาศแห้ง สภาวะอากาศที่แห้งหรือร้อนเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยของอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย เนื่องจากสภาพอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในโพรงจมูกแห้งและคัน หากเด็กแคะ แกะ หรือเกาจมูกจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเลือดกำเดามากขึ้น
  • โรคเกี่ยวกับจมูกบางโรคอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการคัดจมูก เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งเด็กอาจมีโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้นหากสั่งน้ำมูกบ่อย ๆ หรือเป็นโรคภูมิแพ้จมูกด้วย
  • การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้จมูก คันหรือคัดจมูก อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในโพรงจมูกแห้งและเสี่ยงต่อการเกิดอาการเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้น
  • การกิดอุบัติเหตุหรือถูกกระแทกบริเวณจมูกหรือใบหน้า แคะจมูก หรือในเด็กเล็กอาจใช้วัตถุแยงจมูก ส่งผลให้หลอดเลือดภายในจมูกเกิดความเสียหายและมีเลือดกำเดาไหลได้

นอกจากนี้ เลือดกำเดาไหลในเด็กยังอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นที่พบได้น้อย เช่น การสูดดมสารพิษ การติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีโครงสร้างจมูกผิดปกติ หรือมีเนื้องอกภายในจมูก เป็นต้น

เมื่อเด็กเลือดกำเดาไหลบ่อยต้องทำอย่างไร และมีวิธีป้องกันแบบไหน

ตามปกติแล้ว อาการเลือดกำเดาไหลบ่อยมักไม่ส่งผลรุนแรงหรือเป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกายของเด็ก แต่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดอาจช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ให้เด็กนั่งตัวตรง ก้มหน้าเล็กน้อย หลีกเลี่ยงการเงยหน้าและเอนหลังขณะเลือดกำเดาไหลเพื่อป้องกันเลือดกำเดาไหลลงสู่ลำคอจนนำไปสู่อาการอื่น ๆ ตามมา อย่างอาการไอ หรือคลื่นไส้อาเจียน
  • ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าสะอาดบีบบริเวณปีกจมูกทั้งสองข้างเบาๆ ประมาณ 10 นาทีอย่างต่อเนื่อง โดยอาจใช้น้ำแข็งประคบบริเวณจมูกร่วมด้วย

หลังจากที่เลือดกำเดาหยุดไหล พยายามให้เด็กหลีกเลี่ยงการแคะจมูก การสั่งน้ำมูก และการทำกิจกรรมที่อาจเกิดแรงกระแทกเพื่อป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหลซ้ำ หากทำตามวิธีข้างต้นหรือบีบปีกจมูกเป็นเวลา 10 นาทีอย่างต่อเนื่อง 2 รอบแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดควรพาเด็กไปพบแพทย์

การป้องกันเลือดกำเดาไหลบ่อยในเด็ก

เลือดกำเดาไหลบ่อยในเด็กอาจป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้โดยตัดเล็บเด็กให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการระคายเคืองหรือเกิดบาดแผลในโพรงจมูกเมื่อเด็กแคะจมูก ใช้สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกอย่างน้อยวันละ 2–3 ครั้งเพื่อเพิ่มความชื้นในโพรงจมูก หากพักอาศัยในสภาพแวดล้อมที่อากาศแห้งมากอาจใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ รวมถึงหากเด็กทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการถูกกระแทกควรให้เด็กสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม

แม้อาการเลือดกำเดาไหลบ่อยในเด็กมักไม่ส่งผลให้เกิดอันตราย แต่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์หากพบว่าเด็กมีรอยช้ำง่าย เลือดกำเดาไหลและหยุดยาก หรือออกมากผิดปกติ มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง มีเลือดไหลออกตามไรฟัน มีอาการเวียนศีรษะ ซีด และอ่อนเพลีย เลือดกำเดาไหลมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุรุนแรงหรือเกิดหลังจากการใช้ยาบางชนิดบ่อยครั้ง

เลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหลในเด็ก แบบไหนอัตรายควรไปพบแพทย์

  1. ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีพรายย้ำ จ้ำเขียว หรือมีจุดแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว
  2. มีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้น
  3. มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย หรือปนเลือด
  4. เด็กมีไข้สูง
  5. เด็กมีอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือซีดลง

การรักษา การวินิจฉัย และการผ่าตัด เลือดกำเดาไหล

การรักษามาตรฐานที่ใช้กัน คือ การใช้ผ้าก๊อซอัดเป็นชั้นๆ ในช่องจมูก (Anterior Posterior Nasal Packing) เป็นเวลาประมาณ 3 – 5 วัน วิธีนี้แม้ว่าจะสามารถทำให้เลือดหยุดได้ แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหายใจ นำไปสู่การมีออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว นอกจากนี้อาจเกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนในช่องจมูกได้

ทางเลือกของการรักษาภาวะเลือดกำเดาไหลในผู้ใหญ่ คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องขนาดเล็กเพื่อช่วยในการเข้าไปผูกเส้นเลือดที่มีเลือดออก หากได้ผลจะทำให้เลือดหยุดทันที ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าอุดในช่องจมูก ผู้ป่วยหายใจและรับประทานอาหารได้ตามปกติ และลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้สั้นลง การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษและแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะเท่านั้น

การวินิจฉัยขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติ ทั้งอาการเจ็บปวด โรคประจำตัว และการประสบอุบัติเหตุในอดีต หลังจากนั้นจะทำการตรวจเบื้องต้นเพื่อหาสิ่งแปลกปลอม ความผิดปกติในโพรงจมูก โดยการใช้สำลีชุบยาสอดเข้าไปในจมูกของผู้ป่วย และทำการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่

1.ส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy)

2. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)

  • เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดแดง ขาว และเกล็ดเลือด

3. ตรวจวัดระยะเวลาการแข็งตัวของโลหิต

  • หากมีความผิดปกติ เลือดจะแข็งตัวในเวลามากกว่า 25-35 วินาทีขึ้นไป

4. วินิจฉัยภาพถ่ายภายในโพรงจมูก

  • เอกซเรย์ (X-ray)
  • เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
เลือดกำเดาไหลเป็นโรคอะไรบ้าง
  • ภูมิแพ้
  • ความดันโลหิตสูง
  • เลือดออกผิดปกติ
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
  • มะเร็ง เนื้องอก วัณโรคในโพรงจมูก

อย่างไรก็ตาม เลือดกำเดาไหลอาจเป็นอาการของโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การเข้าใจถึงสาเหตุและการดูแลเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดดูแลบุตรหลานที่เลือดกำเดาไหลบ่อยได้อย่างเหมาะสม และผู้ปกครองควรทราบว่าเมื่อใดที่ลูกน้อยมีเลือดกำเดาไหลมากจนอาจอันตรายและควรพาไปพบแพทย์  

ที่มา

http://www.tsh.or.th/

https://www.pobpad.com/

https://chulalongkornhospital.go.th/

https://www.bangkokhospital.com/

https://www.thaichildcare.com/

https://www.posttoday.com/lifestyle/592271

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่  globalfreemasonry.com